วันไข้เลือดออกอาเซียน ( ASEAN Dengue Day )
เนื่องมาจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเผชิญกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกร่วมกัน ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 (ค.ศ.2010) ณ ประเทศสิงคโปร์ จึงได้มีข้อตกลงร่วมกันให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาคมอาเซียนป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยให้แต่ละประเทศดำเนินกิจกรรมป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องจริงจัง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในนามของอาเซียน โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรมคือ ในวันที่ 14 มิถุนายน จะมีการจัดประชุมโรคไข้เลือดออกสำหรับสมาชิกอาเซียนและประเทศผู้ให้การสนับสนุน เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกและการป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน และในวันที่ 15 มิถุนายน จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกตามบริบทของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนและชุมชนตระหนักรู้ปฏิบัติตนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
การเป็นเจ้าภาพจัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียนในนามกลุ่มประเทศอาเซียน
ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 (ค.ศ.2011) โดยมีคำขวัญว่า Dengue is everybody’s concerns, causing socio-economic burden but it’s preventable “โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ทุกคนตระหนักว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้” ในการจัดงานดังกล่าวได้เกิดข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า “จาการ์ตา คอล ฟอร์ แอคชั่น 2011” (Jakarta call for action on combating Dengue 2012)”
ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยมีคำขวัญว่า ASEAN Unity for Dengue-Free Community “อาเซียนร่วมใจ ปลอดภัยไข้เลือดออก” มีข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า “ย่างกุ้ง คอล ฟอร์ แอคชั่น 2012” (Yangon call to Action 2012) โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. เพิ่มศักยภาพในด้านการป้องกัน ได้แก่ การเฝ้าระวัง การควบคุมยุงพาหะ และการขับเคลื่อนทางสังคม
2. เพิ่มศักยภาพในการรักษา เน้นการวินิจฉัยและตรวจรักษาเร็ว 3. เพิ่มคุณภาพการวิจัย
4. พัฒนาและแลกเปลี่ยนนวัตกรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก
ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม โดยใช้คำขวัญเดียวกับครั้งที่ 2 มีกิจกรรมการประชุมนานาชาติโรคไข้เลือดออกและจัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน โดยเป็นการติดตามการดำเนินงานตามข้อตกลงของจาการ์ตา และย่างกุ้ง รวมทั้งให้มีการนำเสนอบทเรียนที่ประสบความสำเร็จของแต่ละประเทศในอาเซียน โดยยังคงเน้นชุมชนปลอดไข้เลือดออกและการร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน
ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีคำขวัญว่า ASEAN Unity and Harmony: Key in the Fight Against Dengue “อาเซียนพร้อมใจ สู้ภัยไข้เลือดออก”
ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีคำขวัญว่า Family Ownership Fighting DENGUE “ทุกครอบครัวร่วมใจ หยุดยั้งภัยไข้เลือดออก”
และใน ปี ค.ศ.2016 หรือ พ.ศ. 2559 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้คำขวัญ Community Empowerment A Sustainable Success to Fight Dengue “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” กำหนดให้มี “แบงคอก คอล ฟอร์ แอคชั่น” (Bangkok call for Action) หลังจากการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก
วัตถุประสงค์ของงานวันไข้เลือดออกอาเซียนครั้งที่ 6
• เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนทั้งภูมิภาคอาเซียน
• เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมใหม่ๆ ขององค์กรทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน
• เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เชิญผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกมาร่วมงาน พร้อมทั้งตัวแทนจากนานาชาติที่เกี่ยวข้องมาร่วมงานประชุมครั้งนี้
กิจกรรมในงานวันไข้เลือดออกอาเซียนครั้งที่ 6 (The 6th ASEAN Dengue Day) ร่วมกับองค์การอาเซียน (Association of Southeast Asia Nation Secretary) ประกอบด้วย
- การประชุมสมาชิกจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ และผู้บริหารในภูมิภาคเอเชีย และนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม แชงกรี-ล่ากรุงเทพมหานคร
- จัดกิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน โดยมีคำขวัญวันรณรงค์ ว่า Community Empowerment A Sustainable Success to Fight Dengue “ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ทำอย่างจริงจังทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งมีกิจกรรมการดำเนินงานที่หลากหลาย นอกจากนี้ผลงานวิจัยเกี่ยวกับไข้เลือดออก เรื่องการศึกษาซีโรไทป์ (Serotype) และภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ประสบความสำเร็จชัดเจน คือ การลดอัตราป่วย-ตายที่ปัจจุบันสามารถพัฒนามาตรฐานการรักษาจนมีอัตราป่วย-ตายไม่เกินร้อยละ 0.1 ของผู้ป่วยในอัตราสูงในแต่ละปี โดยผลสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้จักได้นำองค์ความรู้ไปเป็นข้อมูลประกอบสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออก พ.ศ.2560- 2564 ต่อไป
ที่มา : ASEAN Dengue Day Thailand https://www.facebook.com/aseandenguedaythailand/info/?tab=page_info