"ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภู คู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา"
ข้อมูลหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.)
 

กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ พ.ศ. 2561

บทที่ 1 ที่มา แนวคิด และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

         เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น มาตรา 47 แห่งพระราช บัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กําหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการหลักฯ) สนับสนุน ประสาน และกําหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยให้ได้รับ ค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ สํานักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประสานหารือการดําเนินงานกับกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปี 2549 คณะกรรมการหลักจึงออกประกาศ เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือเทศบาลดําเนินงานและบริหารจัดการระบบ หลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยในปีแรก สปสช. ร่วมกับ อบต. และเทศบาลนําร่อง ให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนฯ) รวม 888 แห่ง
       จากการศึกษาวิจัยนโยบายสาธารณะกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ปี พ.ศ. 2550 และ 2552 ของ ดร.ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัยในทุกภูมิภาค โดยการสนับสนุนจาก สปสช. มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนานโยบายและการดําเนินงานในพื้นที่ จึงนํามาซึ่งการแก้ไขประกาศคณะกรรมการหลักๆ เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตําบลหรือเทศบาลดําเนินงานและ บริหารจัดการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552 และประกาศสํานักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ เรื่อง แนวทางการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดทําบัญชีหรือทรัพย์สิน ในกองทุนฯ ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552
      ปี 2557 คณะกรรมการหลักฯ ได้พิจารณาเห็นชอบปรับปรุงการดําเนินงานกองทุนฯ ของ อปท. ให้มีประสิทธิภาพจึงออกประกาศฉบับใหม่ เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้อปท.ดําเนินงาน และบริหารจัดการกองทุนฯ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งออกแบบให้ อบต. เทศบาล หรือ อปท. รูปแบบอื่นเป็นผู้ดําเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ กองทุน โดยกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ หรือสถาน บริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น หรือสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มหรือองค์กรประชาชนดําเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการ สาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาคณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและ ป้องกันโรคภายใต้คณะกรรมการหลักฯ ได้จัดทําตัวอย่างรายการชื่อแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบริการปฐมภูมิที่กองทุนฯ สามารถให้การสนับสนุนได้โดยจัดทํา เป็นประกาศ เรื่อง การจัดบริการสาธารณสุขของกองทุนฯ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2557
  ปี 2559 รัฐบาลให้ความสําคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ จึงมีนโยบายที่มุ่งเน้น การดูแลผู้สูงอายุที่ภาวะพึ่งพิง (ติดบ้านติดเตียง) ให้ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม กระทรวง สาธารณสุข ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตําบล แห่งประเทศไทย และ สปสช. เห็นชอบร่วมกันสนับสนุนให้ อปท. เป็นหน่วยงานหลักหรือเจ้าภาพในการ บริหารจัดการพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาวฯ เพื่อให้เกิดบริการดูแลระยะยาวฯ เชิงรุกที่บ้าน หรือ ที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการประจํา ในพื้นที่เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพคณะกรรมการหลักๆ ได้ออกประกาศเพิ่มเติม เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ อปท. ดําเนินงานและบริหาร จัดการกองทุนฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 โดยเนื้อหาของประกาศ จะเชื่อมโยงกับประกาศคณะกรรมการหลักๆ ซึ่งต่อมาพบว่าการแยกประกาศออกเป็น 2 ฉบับ ทําให้ พื้นที่เข้าใจเนื้อหาของประกาศคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งประกาศ 2 ฉบับ ยังมีประเด็นที่เป็นข้อติดขัดในการบริหารจัดการกองทุนฯ ประกอบกับผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ปีงบประมาณ 2560 (ด้านการบริหารจัดการกองทุนฯ) มีข้อเสนอให้ สปสช. ทบทวนหลักเกณฑ์ การดําเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อให้ประชาชนไม่เสียประโยชน์ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ในพื้นที่ คณะกรรมการหลักๆ จึงพิจารณาเห็นสมควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ อปท. ดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่จึงได้มีมติ ในการประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดําเนินงานและ บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ซึ่งการปรับปรุงและยกร่างประกาศใหม่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและ การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทน อปท.ผู้แทนภาคประชาชน กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สปสช. เขต และสปสช. ส่วนกลาง ได้ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์แนวทางเพื่อให้การดําเนินงานและบริหารจัดการ กองทุนฯ เป็นไปด้วยความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสอดคล้อกับมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และสอดรับกับวิธีการปฏิบัติงานของ อปท. ภายใต้การกํากับ ของกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ก้าวล่วงอํานาจหน่วยงานอื่น
            
        ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ ระบบที่ประกันให้ประชาชนทั้งหมดและชุมชนสามารถ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จําเป็นได้อย่างมั่นใจ ทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การบําบัดรักษา การฟื้นฟู สมรรถภาพและการดูแลแบบประคับประคอง ที่มีคุณภาพเพียงพอและมีประสิทธิผล โดยไม่มีปัญหา ด้านค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการ โดยรวมมีความหมายครอบคลุมวัตถุประสงค์ใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ 1) ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยทุกคนที่มีความจําเป็นรับบริการควรได้รับบริการ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่สามารถจ่ายได้ 2) บริการต้องมีคุณภาพเพียงพอที่จะทําให้สุขภาพของผู้รับบริการดีขึ้น และ 3) ทุกคนควรได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายหรือความเสี่ยงทางการเงินเมื่อเจ็บป่วย เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่ล้มละลายจากการใช้บริการ คณะกรรมการหลักๆ โดย สปสช. เป็นผู้ดําเนินงานและบริหารจัดการ ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับประเทศมีกิจกรรมหลักที่สําคัญ คือ การลงทะเบียนสิทธิของประชาชน การกําหนดสิทธิประโยชน์ การจัดหาหน่วยบริการให้ประชาชน การจัดซื้อบริการสาธารณสุข (การบริหารจัดการกองทุน) การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ การจัดให้มีระบบสารสนเทศและ ข้อมูลการติดตามและประเมินผล การปกป้องสิทธิและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน
        อย่างไรก็ตาม การดําเนินงานของ สปสช. อาจยังมีช่องว่างหรือไม่ทั่วถึง รวมถึงอาจมีปัญหาอุปสรรค อื่น ๆ อีกมากในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ที่ทําให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ การประสานกําหนดให้ อปท. เป็นผู้ดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จะช่วยปิดช่อง ว่างและเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น ประกาศคณะกรรมการหลักตั้งแต่ปี 2557 จนถึงฉบับปี 2561 จึงออกแบบให้ อปท. ดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีทุน หรืองบประมาณที่เป็นการสมทบร่วมกันระหว่างสปสช. กับ อปท.ที่เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เป็นเครื่องมือให้ อปท. เป็นผู้ดําเนินงานและบริหารจัดการโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของ หน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน เพื่อให้บุคคล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยส่งเสริมกระบวนการมี ส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการมุ่งเน้น ให้กองทุนฯ เป็นฐานในการดูแลสุขภาพให้กับชุมชน และเป็นทุนหนุนเสริมสร้างประโยชน์ด้านสุขภาพ ของประชาชนในพื้นที่

        เงินกองทุนฯ สามารถจ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ ดังต่อไปนี้

        (1) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข
        (2) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกระบวนการหรือกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกัน โรคขององค์กรหรือกลุ่มประชาชน หรือหน่วยงานอื่น
        (3) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ที่ดําเนิน กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลเด็กเล็กในชุมชน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ที่ดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลเด็กเล็ก ในชุมชน หรือการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุหรือคนพิการในชุมชน
        (4) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        (5) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจําเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้
        นอกจากนั้น สปสช. ยังสนับสนุนเงินค่าบริการสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง , (ค่าบริการ LTC) เข้ากองทุนฯ โดยให้ อปท. บริหารจัดการสนับสนุนให้แก่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในชุมชน หน่วยบริการ หรือสถานบริการ เพื่อจัดบริการสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตามชุดสิทธิประโยชน์การบริการด้านสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

การดําเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ โดยมีกองทุนฯ นั้น อปท. มีบทบาทและหน้าที่ โดยสังเขปดังนี้
1. การจัดทําและบริหารแผนการเงินกองทุนฯ ประจําปี
2. สนับสนุนหรือประสานให้หน่วยบริการ หน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มประชาชน จัดบริการ หรือกิจกรรม หรือกระบวนการ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
3. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม 
4. การทํานิติกรรมและบริหารสัญญาหรือข้อตกลง 
5. การจัดทําบัญชีและรายงานทางการเงิน 
6. การติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดําเนินงานกองทุนฯ 
7. งานเลขานุการคณะกรรมการกองทุนและการพัฒนาศักยภาพกองทุนฯ